อนุ กมธ.การการเงิน การคลัง ถกหนักธนาคารแห่งประเทศไทย เอื้อประกาศธนาคารเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ขัดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้ประชาชนเดือดร้อยเสียภาษีสูงถึง 24-25%

ผู้สื่อข่าวรายงาน รายงานว่า ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ N 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ การเงิน การคลัง โดยมีนายณพล (สัมภาษณ์) บริบูรณ์ นายสุรจิต บุญยุบล และ รศ.ดร.พ.ต.อ.สมดุลย์ ดำทองสุข ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง รวมทั้งนายชาญวิทย์ พึงจิตติสานติ์ และคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ได้เข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง  ในการประชุมครั้งนี้ได้มีวาระการประชุมที่สำคัญคือการกำหนดและกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเชิญ ตัวแทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ ที่ประชุมได้สรุปประเด็นดังกล่าวได้ว่า ให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้กฎหมายที่กำหนด นอกจากนี้จะให้ทางสภาผู้แทนราษฎร เสนอยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติต่างๆ ที่ล้าสมัย อาทิ ประกาศคณะปฏิวัติที่ 2515 สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เพราะไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และขัดกับหลักการกำหนดและกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บังคับใช้กฎหมายจะได้ไม่ขัดกัน ทำให้เกิดปัญหาในอนาคต

    ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังจากการประชุมนายจิตติพจน์กล่าวว่า ปัญหาการกำหนดและกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับการร้องเรียนมาจากประชาชนมากมาย มาจากการกู้เงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ยังจ่ายดอกเบี้ยที่แพง โดยบัตรเคดิตจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 16 เปอร์เซ็นต์ สินเชื่อส่วนบุคคลมีทะเบียนรถเป็นประกันปีละ 24 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีทะเบียนรถเป็นประกันต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด  เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 กำหนดไว้ชัดเจน “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญาการหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี” ซึ่งการเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ที่สำคัญยังผิดกฎหมายอีกด้วย ทำให้ประชาชนร้องเรียนกันมาอย่างมากมาย

ในข้อเท็จจริงธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดให้ทำได้ในการคิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นจะทำไม่ได้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศให้สามารถเก็บดอกเบี้ยเกินได้ ตนเชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจผิดมากกว่า โดยอาศัยอำนาจของคณะปฏิวัติ ซึ่งอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“ทางคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ จึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมาดูในเรื่องศักดิ์ของกฎหมาย ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยต่ำกว่ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการเก็บดอกเบี้ยจะเก็บเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ จึงทำไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้จะได้เสนอข้อทักท้วงไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกแนวทางหนึ่งคือ เสนอเรื่องเข้าสู่สภาเพื่อชำระกฎหมายที่ไม่ทันสมัยเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติจะได้ไม่ทำผิดหลักกฎหมาย” นายจิตติพจน์กล่าว

ภาพ/ข่าว ณพล บริบูรณ์, นภชนก เหมือนนามอญ รายงาน.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *