ม.บูรพา ร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ฝึกอบรมนักบินอากาศยานไร้คนขับ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ห้องประถมใจจิต มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง การฝึกอบรมนักบินอากาศยานไร้คนขับ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นผู้ลงนาม โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากทั้ง 2หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับสาหรับการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล รวมถึงระบบอากาศยาน ไร้คนขับสำหรับเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมและสนับสนุน การฝึกอบรมนักบินอากาศยานไร้คนขับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย
มหาวิทยาลัยบูรพา จะดำเนินการจัดสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร และจัดหลักสูตรร่วมภายใต้บันทึกข้อตกลง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับสำหรับการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล รวมถึงระบบอากาศยาน ไร้คนขับสำหรับเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องควบคู่กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในการฝึกอบรมนักบินอากาศยานไร้คนขับ ได้แก่
1. หลักสูตรนักบินอากาศยานไร้คนขับสำหรับการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล
2. หลักสูตรนักบินอากาศยานไร้คนขับสำหรับเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
3. หลักสูตรนักบินอากาศยานไร้คนขับสำหรับการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย
4. หลักสูตรนักบินอากาศยานไร้คนขับสำหรับบันทึกภาพเพื่อการศึกษาและการประชาสัมพันธ์
5. หลักสูตรนักบินอากาศยานไร้คนขับสำหรับแปลภาพถ่ายทางอากาศและ หลักสูตรอื่น ๆ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
6. หลักสูตรอื่น ๆ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
มหาวิทยาลัยบูรพา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับของไทยนั้น จะพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่พร้อมแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย และในการเกษตรเชิงพานิชย์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ จัดเก็บ จำหน่าย และส่งออก เพื่อนำรายได้ให้กับเกษตรกรและนำรายได้เข้าประเทศ และเป็นการบูรณาการอย่างยั่งยืนต่อไป
หลังจากเสร็จสิ้นการลงนามความร่วมมือฯ คณะผู้บริหาร ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการอากาศยานไร้คนขับ อาทิ ห้องจำลองการบิน Flight Simulaton การสาธิตการแสดงอากาศยานไร้คนขับ และได้เยี่ยมชมสถานที่สำหรับการฝึกภาคปฏิบัติหลักสูตรอากาศยานไร้คนขับ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาประเทศต่อไป
ธนา ธรรมวาจา / เจียรพรรณ สุรนันท์ รายงาน