“นายกไร่อ้อย”รณรงค์บ้านบึงอ้อยสะอาด หีบอ้อยปี 64 ปริมาณอ้อยสด พุ่ง 80 % แม้เจอทั้งปัญหาแรงงาน-พื้นที่-เครื่องจักร

           เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 20 ธันวาคม 2564 “นายกเป้า”นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี  ได้พาผู้สื่อข่าวชมการตัดอ้อยสด ในแปลงไร่อ้อยจำนวนพื้นที่กว่า 100 ไร่ บริเวณหน้าวัดเขาถ้ำ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี  ตามโครงการ “อ้อยสดเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม” ของสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ที่ได้วางแนวทางให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในพื้นที่ ลดการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อเป็นการลดการสร้างมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยใหญ่ที่สุดในจ.ชลบุรี พบว่ามีคนงานจำนวนกว่า 20 คน กำลังตัดอ้อยสด โดยมีรถคีบและรถบรรทุกอ้อยเร่งขนอ้อยสดขึ้นรถเพื่อไปส่งโรงหีบน้ำตาล ที่ตั้งอยู่ห่างจากบริเวณไร่อ้อยระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร  

นายจิรวุฒิ กล่าวว่าที่ผ่านมาปัญหาของการเผาไร่อ้อยของเกษตรกรสร้างมลภาวะให้กับพื้นที่ แต่ในความจริงแล้วการเผาอ้อย เกษตรกรจะมีเทคนิคและมีช่วงเวลาในการเผา เพราะไม่เช่นนั้นจะสร้างความเสียหายให้กับอ้อย  ในความจริงแล้วเกษตรกรทุกคนอยากตัดอ้อยสดส่งโรงหีบเพราะราคาดี และจะทำให้ค่าน้ำตาล CCS ในอ้อยไม่เสียหาย แต่ปัญหาเกิดจากการตัดอ้อย ซึ่งพื้นที่จ.ชลบุรีส่วนใหญ่จะใช้แรงงานตัด แต่แรงงานเขาจะไม่ตัดอ้อยสด เพราะมันตัดยากยิ่งถ้าอ้อยล้มหรืออ้อยลำต้นไม่ตรง ตรงนี้เขาจะไม่อยากตัดเลย    เกษตรกรที่ไปว่าจ้างแรงงานมาจากภาคอีสาน พอรู้ว่าจะให้มาตัดอ้อยสดเขาจะเบี้ยวไม่มาเลย  เพราะการตัดอ้อยสดจะทำให้รายได้ของแรงงานหายไปกว่า 50 %   การตัดอ้อยสดใน 1 วันแรงงานที่ตัดอ้อย เริ่มตั้งแต่เช้ามืดยันเย็นเต็มที่ก็ได้ 1 ไร่กว่า ๆ มีรายได้ไม่เกิน 500 บาทต่อคน 

   ต่างกับการตัดอ้อยไฟไหม้ที่แรงงานสามารถตัดอ้อยได้มากกว่าการตัดอ้อยสดถึง 3 เท่า ซึ่งก็จะมีรายได้ประมาณ 1,000 บาท  แรงงานตัดอ้อยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มาจากภาคอีสานหรือไม่ก็เป็นคนต่างด้าว  คนชลบุรีไม่มีใครรับจ้างทำงานตัดอ้อยเพราะเขามองว่าเป็นงานหนักจึงแทบไม่มีคนทำกัน   แต่ขณะนี้เกษตรกรภาคอีสานก็นิยมปลูกอ้อยกันมากทำให้ภาคอีสานเป็นพื้นที่ ๆ มีการปลูกอ้อยกันมากที่สุดในประเทศมีปริมาณอ้อยมากหลายล้านตันในแต่ละปี  ต่างจาก จ.ชลบุรี ที่ฤดูกาลหีบอ้อยปี 2564 คาดว่าปริมาณอ้อยไม่น่าจะถึง 1 ล้านตัน 

เกษตรกรในสังกัดสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี เราได้มีการประชุมลูกไร่เน้นให้มีการตัดอ้อยสดมากขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังทำให้มีรายได้จากการขายอ้อยสดเพิ่มขึ้น  อย่างในวันที่ 19 ธ.ค.64 ที่ผ่านมามีการตัดอ้อยสด 97,152.180 ตัน เทียบเป็น% ก็ปริมาณ 80.19 % อ้อยไฟไหม้เหลือเพียงแค่ 24.003.820 คิดเป็น % ก็19.81 %  ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมเกษตรกรชลบุรี ถึงไม่นิยมเอาเครื่องตัดอ้อยมาใช้ในการตัดอ้อย นายจิรวุฒิ กล่าวว่าเครื่องตัดอ้อยของใหม่ราคาประมาณ 10 ล้านบาท/เครื่อง เครื่องตัดอ้อยมือสองราคาประมาณ 4-5 ล้านบาท เกษตรกรทั่วไปจึงไม่มีโอกาสที่จะซื้อมาใช้ได้ เพราะขาดเงินทุน อีกอย่างการลงทุนซื้อเครื่องตัดอ้อย 10 ล้าน หรือ 5 ล้าน  ใน 1 ปีใช้งานได้เพียงไม่กี่เดือน เขาเอาเงินไปซื้อรถแบ็คโฮมาทำงานมันคุ้มทุนกว่าเพราะทำงานได้ตลอดทั้งปี  

และด้วยสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยของ จ.ชลบุรี ไม่ได้เป็นที่ราบเหมือนภาคอีสานหรือภาคกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เนินเขาทำให้มีหินก้อนผสมอยู่ในแปลงอ้อยจำนวนมาก ผมเคยนำมาเครื่องตัดอ้อยมาใช้แต่ใบตัดถูกหินตีแตกบ้าง คมตัดปิ่นบ้าง ใบตัดใบละ 4-5 พันบาท จึงไม่คุ้มค่า ก็เลยหันกลับมาใช้แรงงาน   นายจิรวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่าในปีนี้ราคาอ้อยอยู่ที่ 1,070 บาท/ตัน เป็นราคาที่เกษตรกรชาวไร่ขาดทุนแน่นอน แต่จำเป็นต้องปลูก ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยประสบปัญหาภัยแล้ง รัฐไม่เหลียวแล ราคาปุ๋ยก็แพง  เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ดินจากนายทุนเพื่อปลูกอ้อย  เครื่องจักร รถไถ ต้องจ้าง  ยังไงก็ขาดทุน ก็อยากจะฝากไปถึงภาครัฐให้จัดสรรงบประมาณลงมาอุดหนุนชาวไร่อ้อยบ้าง  ในส่วนการตัดอ้อยสดนั้นแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย  จะเป็นเรื่องปัญหาแรงงาน ปัญหาพื้นที่ ปัญหาของเครื่องจักรตัดอ้อย  แต่ก็เชื่อว่ายังสามารถปรับทำได้  อย่างปริมาณการตัดอ้อยสดในฤดูกาลนี้ของจ.ชลบุรี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวผมเองในปีนี้ปลูกอ้อยได้ผลผลิตประมาณ 1.5 หมื่นตัน ก็จะตัดอ้อยสดให้มากที่สุด

ธนา ธรรมวาจา / เจียรพรรณ สุรนันท์ รายงาน