สำนักสงฆ์ร้องถูกเทศบาลสั่งให้รื้อถอน อ้างชาวบ้านอยากได้สวนสาธารณะแทน ผู้สมัคร ส.ส.เสรีรวมไทยชลบุรี ยื่นมือช่วย

        เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 1 กันยายน 2565 ที่สำนักสงฆ์ เขานกยูง ม.4  ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี นายสมบูรณ์ จั่นเที่ยง อายุ 51 ปี บ้านเลขที่ 1/36 ม.1 ต.หนองรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ผู้ดูแลสำนักสงฆ์ เขานกยูง เป็นบุตรชาย หลวงพ่อพระครู สมุห์ ประดิษฐ์ ปณฺฑิโต อดีตเจ้าอาวาสองค์แรก ผู้ก่อสร้างสำนักสงฆ์เขานกยูง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ นายณพล บริบูรณ์ ว่าที่ผู้สมัครส.ส.พรรคเสรีรวมไทย เขต.2 จ.ชลบุรี ช่วยเหลือจากกรณีได้มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาล ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้มาแจ้งให้ พระทองเพิ่ม ฐานิสสฺโร รักษาการเจ้าอาวาส ย้ายไปออกจากสำนักสงฆ์เขานกยูง โดยอ้างว่าเทศบาลต.นาป่า จะมาทำการรื้อถอนสำนักสงฆ์ เพื่อก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ โดยอ้างเหตุผลว่ามีประชาชนร้องเรียนไปยังเทศบาลอยากจะได้สวนสาธารณะแทนวัดหรือสำนักสงฆ์

         นายสมบูรณ์  จั่นเที่ยง ได้ให้รายละเอียดพร้อมเอกสารกับ นายณพล บริบูรณ์ ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย ที่ได้มารับเรื่องร้องทุกข์ความเดือดร้อนของชาวบ้านและพระสงฆ์ ว่า “เทศบาลอ้างว่าพื้นที่สำนักสงฆ์เขานกยูง เป็นป่าสาธารณะ และได้ทำการเพิกถอนเอกสารแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีเอกสารมายืนยัน  แต่ทางสำนักสงฆ์เขานกยูง ได้มีเอกสารว่าพื้นที่แห่งนี้ได้รับการยืนยันจากกรมป่าไม้ว่าเป็นป่าชุมชน ทางเทศบาลก็อ้างว่ามีชาวบ้านมาร้องเรียนให้ทำสวนสาธารณะโดยให้รื้อถอนสำนักสงฆ์   เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ตั้งแต่ในสมัยที่หลวงพ่อพระครู สมุห์ ประดิษฐ์ ปณฺฑิโต อดีตเจ้าอาวาสองค์แรก ผู้ก่อสร้างสำนักสงฆ์เขานกยูง ยังไม่มรณภาพ ได้มีผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาบอกว่าจะให้ยุบสำนักสงฆ์แห่งนี้เพราะเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะ แต่หลวงพ่อก็ไม่ยินยอม ภายหลังจากหลวงพ่อมรณภาพ เจ้าคณะตำบลหนองรีก็มาบอกให้ทางสำนักสงฆ์เอาเอกสารไปยื่นให้สำนักพุทธ ไปกรมป่าไม้  จึงทราบว่าพื้นที่สำนักสงฆ์เป็นป่าชุมชน 2484 มีภาพถ่ายทางอากาศปรากฏชัดเจน แต่เทศบาลก็อ้างว่ามีชาวบ้านมาร้องเรียนจะเอาพื้นที่สำนักสงฆ์ มาสร้างเป็นที่ออกกำลังกาย โดยให้พระทองเพิ่ม ฐานิสสฺโร รักษาการเจ้าอาวาส ย้ายกลับไปอยู่สังกัดเดิม วันนี้จึงได้มาร้องเรียน พรรคเสรีรวมไทย จ.ชลบุรี ให้ช่วยให้ความเป็นธรรมกับวัดและสำนักสงฆ์ เพราะปัจจุปันก็มีชาวบ้านจำนวนมากขึ้นมาทำบุญและบริเวณโดยพื้นที่รอบวัดก็เป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์” 

    นายณพล บริบูรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะแจ้งความเดือดร้อนให้กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้รับทราบความเดือดร้อนของพระและชาวบ้านที่ยังต้องการให้สำนักสงฆ์แห่งนี้อยู่ที่นี่ต่อไป จากนั้นก็ไปร้องยังกรรมาธิการศาสนาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะนิมนต์เจ้าอาวาสไปเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงของการตั้งสำนักสงฆ์แห่งนี้ ซึ่งก็ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายแต่ก็จะเชิญผู้เกี่ยวข้องไปให้ถ้อยคำ สำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี 2520 นับถึงวันนี้ 44-45 ปี ทางเราก็จะดำเนินการเพื่อให้สำนักสงฆ์ได้รับความเป็นธรรม เพราะพื้นที่รอบข้างสำนักสงฆ์แห่งนี้ปัจจุปันมีความเจริญเป็นอย่างมาก มีหมู่บ้านจัดสรรมาสร้างบ้านขายให้ลูกค้าในบริเวณใกล้เคียงและติดกับพื้นที่สำนักสงฆ์”

    พระทองเพิ่ม ฐานิสสฺโร รักษาการเจ้าอาวาส กล่าวว่า “ทางวัดพยายามทำเรื่องให้ถูกต้อง แต่ทางเทศบาลมาก็พูดเมื่อไรจะไป เมื่อไรจะไป บอกคำเดียวว่ายุบๆ มันเพิกถอนไปแล้ว แล้วยังมีพระอยู่มีคนอยู่ก็ต้องมาแจ้งให้เรา จะมาขอพื้นที่ทำโน่นทำนี่ ปากโยมก็บอกว่าที่สาธารณะเป็นที่ส่วนรวม แต่ทำไมจะต้องให้พระไป ต้องรื้อถอนวัด ร่างหลวงพ่อก็ยังอยู่  ก็เคยย้อนถามผู้ใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งก่อนนี้พื้นที่ตรงนี้ไม่เจริญทำไมเมื่อก่อนไม่มาจับจอง แล้วจู่ๆ ก็จะมาทำกันพอสิ้นหลวงพ่อไปแล้ว มากี่เที่ยว กี่เที่ยวจะถามว่าเมื่อไรจะไปให้คำตอบได้ไหม ก็อยากจะรู้ว่ามีเหตุผลอะไรถึงจ้องจะมาเอาที่ดินแปลงนี้ ก็สงสัยคำพูดของเขาบางครั้งก็มีเหตุผลบางครั้งก็ฟังไม่ได้ เราก็ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง อ้างว่าทำตามหน้าที่แต่ก็ไม่มีหนังสือมา ยังไงก็ไม่ไป ไม่ย้ายออกจากสำนักสงฆ์แห่งนี้”

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสำนักสงฆ์เขานกยูง ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดยมีหลวงพ่อพระครู สมุห์ ประดิษฐ์ ปณฺฑิโต เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ในปี 2531 คณะสงฆ์จังหวัดชลบุรี ได้มีหนังสือ อนุญาตให้พระภิกษุสามเณรพำนักอาศัยเพื่อดูแลเสนาสนะ ก่อสร้างด้วยงบประมาณ1.35 ล้านบาท หลังจากมรณะภาพไปร่างกายไม่เน่าไม่เปื่อย จึงมีญาติโยมขึ้นมากราบไหว้ ในปี 2531 ในช่วงต้นปี 2565 นายสมบูรณ์ จั่นเที่ยง บุตรชายของพระครูประดิษฐ์ ได้ทำหนังสือขอใช้ที่ดินของราชการเพื่อสร้างวัด พร้อมเอกสาร เขตพื้นที่ไม้ตาม พ.ร.บ.กรมป่าไม้ 2484 อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื้อที่ 9 ไร่ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านที่ตั้งอยู่รอบพื้นที่ ๆ จะสร้างวัดจำนวน 900 ครัวเรือน ประชากร 3,000 คน