ส.ส.ชลบุรี ติง “งานวิ่งควายชลบุรี”ใช้งบกว่า 5 ล้าน กรรมการตัดประกวดควายพื้นบ้านทิ้ง เจ้าของควายต้องควักเงินกว่า 1 แสนจ่ายเอง
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 19 ต.ค.67 “สส.เป้า”นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ส.ส.ชลบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยผู้สื่อข่าวถึงการจัดงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ว่า “การงานวิ่งควายชลบุรีปีนี้ ถือว่าผู้จัดงานจัดได้ต่ำกว่ามาตรฐาน มี เกษตรกรหลายอำเภอ ส่งควายพันธุ์พื้นเมือง คือควายชลบุรี เข้าประกวด แต่ถูกคณะกรรมการที่จัดงาน ประกวดพันธุ์ควายตัดรุ่นรายการประกวดลดลงจากเดิมที่เคยมีมา ซึ่ง เอารุ่นฟันน้ำนมไปรวมกับรุ่นฟันแท้1-2ซี่ ซึ่งจากเดิมทุกๆครั้งไม่มีการนำ2รุ่นนี้มารวมกัน งบประมาณเงินรางวัลในแต่ละรุ่น มีเงินรางวัลรวม144,000บาท แต่เมื่อลดรุ่นไปรวมกัน แล้วเงินรางวัลหายไปไหน จากเดิมงานวิ่งควายชลบุรี มีการประกวดควายสายพันธุ์ต่างๆจำนวน 4 รุ่น ในแต่ละประเภท แต่งานวิ่งควายปีนี้ คณะผู้จัดงาน ตัดรายการให้เหลือ 3 รุ่น และรายการที่ถูกตัดออก ทำให้ เกษตรกรที่นำควายเข้าร่วมประกวดได้เกิดความสงสัย ว่าทำไมถึงได้ตัดรุ่นฟันน้ำนมออก
จากที่สอบถามคณะผู้จัดงาน ได้คำตอบมาว่างบประมาณไม่พอ เกษตรกรชาวชลบุรีจึงเกิดความสงสัยว่างบประมาณไปไหนหมด ทำไมเมื่อก่อนเมื่อ2ปีที่แล้ว ยังมีงบประมาณเพียงพอ ในปีนี้เกษตนกรต้องลงขันออกเงินรางวัลเอง เป็นเงินประมาณเกือบ2แสนบาท ทั้งที่การจัดงานประเพณีวิ่งควายในปีนี้ ใช้เงินงบประมาณสูงถึง 5 ล้านกว่าบาท แยกเป็นอบจ.ชลบุรีสนับสนุน 2 ล้านบาท เทศบาลเมืองชลบุรีสนับสนุน 3.5 ล้านบาท และที่ผมยังแคลงใจก็คือจำนวนควายที่มาร่วมงาน ได้รับค่าตอบแทนตัวละ 500 บาทนั้น
ยังไม่สามารถบอกจำนวนควายที่มาร่วมงานว่ามีจำนวนกี่ตัว และตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ผมจึงตั้งเป็นข้อสงสัยไว้ และคณะกรรมการมีความโปร่งใสในการตรวจสอบจำนวนควาย เงินรางวัลและค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ทั้งๆที่แม่งานคือประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี แต่กลับไม่ให้ความสำคัญควายสายพันธุ์ชลบุรีและเกษตรกรผู้เลี้ยงควายจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นประเพณีเดียวในโลก มีที่เดียวในโลก และเป็นสายพันธุ์ประจำจังหวัดที่นำมาวิ่งแข่งขันกันในงานประเพณีวิ่งควายของเรา
ผมแจ้งพี่น้องเกษตรกรชาวชลบุรี ไว้ตรงนี้ว่า ในงานประเพณีวิ่งควายปีหน้า(2568) ผมจะจัดงานขึ้นที่ สนามหน้าเทศบาลตำบลหนองชาก อำเภอบ้านบึงจังหวัดชลบุรี โดยจะจัดงานประเพณีวิ่งควาย ประกวดควายงาม ให้เกษตรกร และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมได้ดูของจริง และจะไม่ต้องใช้งบประมาณเงินหลวงสูงถึง 5 ล้านบาทแน่นอน