ชาวบ้านมาบไผ่ ชลบุรี รอ อบต.ไม่ไหว ส่งตัวแทนเจรจาโรงงานขยะแก้ปัญหา ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านนานนับปี
ชาวบ้านมาบไผ่ ชลบุรี รอ อบต.ไม่ไหว ส่งตัวแทนเจรจาโรงงานขยะแก้ปัญหา ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านนานนับปี
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นายนิกร แซ่อึ้ง นายชลิต โกสินทจิตต์ นายพี แซ่อึ้ง ตัวแทนชาวบ้าน ม.1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้นัดหมายพูดคุยกับ น.ส.ณัชชา เปรื่องปราด เจ้าของโรงงานกำจัดขยะ บริษัทอัครกมล รีไซเคิล จำกัด ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ชุมชน เลขที่ 80/5 หมู่ 1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งประกอบกิจการจัดเก็บขยะจากชุมชนในพื้นที่ อบต.มาบไผ่และเป็นสถานที่ทิ้งขยะของเทศบาล-อบต.ต่าง ๆในพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่ขนขยะชุมชนมารีไซเคิล ก่อนนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ
โดยก่อนหน้านี้ นางวิภา อำไพ อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 98 ม.1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ อบต.มาบไผ่ (องค์การบริหารส่วนตำบลมาบไผ่) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 และร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านบึง จากนายพี แซ่อึ้ง บ้านเลขที่ 76/16 ม.1 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ในวันที่ 20 มกราคม 2563 กรณีได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของโรงงานขยะอัครกมล รีไซเคิล ของน.ส.ณัชชา เปรื่องปราด
โดยกลิ่นขยะได้รบกวนชาวบ้านในระแวกพื้นที่ ม.1 ต.มาบไผ่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านข้างเคียง บางรายถึงต้องล้มป่วย เวียนหัว ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.มาบไผ่ ได้ลงตรวจสอบโรงงานตามที่ได้รับร้องเรียน พบว่ามีกองขยะที่คัดแยกแล้วกองอยู่จำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นตามที่มีการร้องเรียนจริง จากการสอบถามผู้ประกอบการให้การว่ารอการส่งไปกำจัดที่บริษัท TPI ซึ่งรถขนส่งมีจำนวนไม่เพียงพอ ชำรุดอยู่ระหว่างซ่อมแซมและจะรีบขนย้ายขยะที่ตกค้างออกโดยเร็ว ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอบต.ได้แจ้งให้โรงงานดำเนินการแก้ไขเรื่องปัญหาการส่งกลิ่น โดยให้เพิ่มสเปย์น้ำ และฉีดยาพ่นเป็นระยะไปที่กองขยะ กั้นแนวเสาเพิ่มกันกลิ่น ในอนาคตให้สร้างโรงเรือนระบบปิด ดำเนินการขนขยะตกค้างทิ้งทั้งหมด ให้ทางโรงงานแจ้งเทศบาล-อบต.ที่ขนขยะมาทิ้งห้ามไม่ให้มีน้ำขยะจากรถขนขยะตกใส่พื้นผิวถนน กรณีรถขนส่งเสียหาย ให้จ้างรถขนส่งมาจัดส่งแทน ทำความสะอาดพื้นถนนที่น้ำขยะตกหล่นเพื่อแก้ปัญหาการส่งกลิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานกว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวที่กองสาธารณสุข อบต.มาบไผ่ ได้ให้โรงงานทำบันทึกข้อตกลงกับชาวบ้านนั้น ก็ไม่ทำให้ปัญหากลิ่นขยะรบกวนชาวบ้านลดน้อยลงแต่อย่างใด โดย น.ส.วัลยา (กิ๊บ) ภัทรวิริยสกุล อดีตผู้สมัครส.อบจ.ชลบุรี เขต3 บ้านบึง กลุ่มก้าวหน้า ที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน จึงได้นัดหมายให้เจ้าของโรงงานกับตัวแทนชาวบ้านได้มีการพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งการเจรจา นายชลิตและนายนิกร ได้แจ้งความประสงค์ของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานมายาวนาน
โดยให้ทางโรงงานดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องการส่งกลิ่นของขยะ ทางโรงงานแจ้งว่าพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ขยะส่งกลิ่นเหม็น ที่ผ่านมาทางจนท.อุตสาหกรรมจ.ชลบุรีแนะน้ำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ น้ำยาพ่นดับกลิ่น ทางโรงงานก็ไปซื้อมาติดตั้งแต่มันก็ไม่ได้ผล เพราะกลิ่นขยะจะโชยกลิ่นในเวลาที่มีการตักขยะขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปกำจัดและฝังกลบ นายชลิตและนายนิกร ได้เสนอให้มีการสร้างโรงเรือนเก็บขยะและขนส่งให้เป็นระบบปิด เพื่อไม่ให้กลิ่นโชยออกในเวลาที่ตักขยะขึ้นรถ โดยยินดีที่จะสำรองเงินทุนในการก่อสร้างให้กับโรงงานโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย เพราะทราบดีว่าทางโรงงานขาดสภาพคล่อง ถ้ารอให้หาทุนมาก่อสร้างตัวอาคารก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนานเป็นปี โดยโรงงานได้แจ้งให้ทางตัวแทนชาวบ้านทราบว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถหยุดการรับขยะจากเทศบาลและอบต.อื่น ๆ ได้นั้นเพราะมีการเซ็นสัญญาจ้างไว้กับเทศบาลกับอบต.จำนวนหลายแห่งในพื้นที่จ.ชลบุรี ถ้าโรงงานไม่เปิดให้ทิ้งขยะก็จะถูกฟ้องร้อง แต่ในส่วนการเก็บขยะในพื้นที่ อบต.มาบไผ่นั้นทางอบต.ไม่ได้ว่าจ้างหรือให้งบสนับสนุน แต่ให้โรงงานเก็บขยะชุมชน โดยให้ไปเรียกค่าเก็บขยะจากชาวบ้านในพื้นที่เอง ในอัตราเดือนละ 50 บาทบ้าง 30 บาทบ้าง อบต.มาบไผ่ไม่เคยสนับสนุนหรือให้เงินทางโรงงานแต่อย่างใดแต่ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องทำเพราะเครื่องจักรในการคัดแยกขยะก็ไปกู้ธนาคารซื้อมา แต่หลังจากที่ทางโรงงานหมดสัญญากับเทศบาลและอบต.ก็จะลดปริมาณในการรับขยะลง เพื่อไม่ให้ชาวบ้านที่ใกล้เคียงเดือดร้อน
นายชลิต กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ก็ได้พูดคุยกับทางโรงงานแล้วว่ายังไงก็ให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ให้ใครเดือดร้อน โรงงานก็ต้องทำมาหากินแต่จะทำอย่างไรถึงจะไม่ให้กลิ่นขยะออกมารบกวนชาวบ้าน เบื้องต้นก็มีการตกลงกันว่าจะต้องทำโรงเรือนระบบปิด โดยทางนายนิกร แซ่อึ้ง ซึ่งเป็นนักธุรกิจในพื้นที่ เป็นลูกหลานคนมาบไผ่ก็จะเป็นผู้สำรองจ่ายเงินในการก่อสร้างไปก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะทราบดีกว่าทางโรงงานขณะนี้ก็ขาดสภาพคล่อง ถ้ารอให้โรงงานแก้ไขเองก็ต้องใช้เวลาอีกนาน ชาวบ้านที่เดือดร้อนเขาทนไม่ไหวเขาไม่รอการแก้ปัญหาของอบต.มาบไผ่เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านร้องเรียนผ่านไป 1 ปีก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อีกทั้งตัวแทนชาวบ้านจะขอเข้าพบนายกอบต.เพื่อแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้รับทราบก็ไม่ยอมให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้พบเพียงแต่ให้จนท.สาธารณสุขมาตรวจสอบโรงงานวนเวียนอยู่อย่างนั้น”
ธนา ธรรมวาจา / เจียรพรรณ สุรนันท์ รายงาน