ฉาว…ชาวบ้านร้อง จังหวัดสร้าง Bike lane รุกล้ำที่ดินนับ 100 ไร่ ไร้หน่วยงานรับผิดชอบ
ผู้ว่าชลฯ วาดฝันสร้างเส้นทางจักรยาน (Bike lane) สวยและดีที่สุดในสยาม ของบประมาณกรมพลศึกษา 50 ล้าน สร้างเส้นทางจักรยานรอบพื้นที่ป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยาว 20 กม. ทั้งหมด 244 โค้ง ปล่อยทิ้งนานกว่า 6 ปี ปิดประตูทางเข้า-ออก ติดป้าย “สถานที่ราชการห้ามเข้า” ท่องเที่ยวชลบุรี เตรียมของบฯแผนพัฒนาจังหวัดอีก 16 ล้านบาท ประชาชนร้องสื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่รับผิดชอบออกมาชี้แจงด่วน เส้นทางยังไม่เปิดใช้แต่ของบประมาณซ่อมแซม และโครงการดำเนินการมิชอบ สร้างทางจักรยานทับที่ดินของชาวบ้านนับร้อยไร่
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นายระพีพัฒน์ เกตุกวี อายุ 41 ปี ทนายความได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดิน เอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. ว่าได้ถูกโครงการสร้างเส้นทางจักรยานของจังหวัดชลบุรีตัดเข้ามาในพื้นที่กว่า 30 ไร่ พร้อมกับ นายอุดร ทองสำลี อายุ 57 ปี และนายสุชาติ บุญอนันต์ อายุ 57 ปี ที่ถูกเส้นทางจักรยานเข้าไปในพื้นที่ครอบครองสิทธิ์ อีกประมาณ กว่า 100 ไร่ และเคยถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมในข้อหาบุกรุก ในสมัยของ นายคมสัน เอกชัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.2558
อีกทั้งได้มีนักปั่นจักรยานจำนวนมากที่รอคอยการใช้เส้นทางนี้ร้องเรียนว่าตั้งแต่สร้างเสร็จไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้ พยายามทวงถามเหตุผลจากหน่วยงานภาครัฐ ก็ได้คำตอบเพียงว่าเส้นทางชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ ประชาชนหมดหนทางในการรับรู้ความจริงจากหน่วยงานของทางราชการ จึงขอวิงวอนให้สื่อมวลชนทุกแขนงช่วยหาข้อเท็จจริง กรณีที่จังหวัดชลบุรี ได้ร้องของบประมาณ และรับการอนุมัติงบประมาณจากกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อสร้างเส้นทางจักรยานส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา ระยะทางยาว 20 กิโลเมตร 244 โค้ง ในพื้นที่โครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการดูแลพื้นที่ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ชลบุรี ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ด้านทิศใต้ และตะวันออกบางส่วนคาบเกี่ยวใน พื้นที่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 และสิ้นสุดสัญญาจ้าง ในวันที่ 18 กันยายน 2559 (ระยะเวลา 180 วัน)
ได้รับการเปิดเผยจาก นางอำไพ ศักดานุกูลจิต สไลวินสกี้ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ว่า ที่ผ่านมาได้รับทราบปัญหาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาตลอด และได้ชี้แจ้งในช่องทางที่พึงกระทำได้ ยอมรับว่าโครงการเส้นทางจักรยานนี้ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี เป็นรับผิดชอบผู้ดำเนินการ ได้ประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท บางแสนมหานคร จำกัดชนะการประกวด วงเงิน 47,750,000 บาท จึงได้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ 13/2558 บริษัทฯเริ่มงานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 สิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 18 กันยายน 2559 แต่ได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 180 วัน เพื่อปรับปรุงแบบจากเส้นทางเดิม 20 กม. ทำได้เพียง 17.80 กม.เท่านั้น จึงสิ้นสุดสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ซึ่งทางบริษัทฯได้มีการส่งมอบงาน และพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาค้ำประกันงาน 2 ปี แต่ก็ยังมีปัญหาที่ทางจังหวัดไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ดูแลให้กับโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 จังหวัดชลบุรี ได้ เนื่องจากถนนถูกน้ำเซาะบางช่วงชำรุด อาจเกิดอันตรายต่อนักปั่นจักรยานได้
นางอำไพ ยังได้เปิดเผยอีกว่า หลังจากที่หมดสัญญาค้ำประกันของบริษัทฯแล้ว ทางจังหวัดชลบุรีได้มีหนังสือแจ้งกรมพลศึกษาให้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ และสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่ใช้งบประมาณให้แก่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 เพื่อดูแล รักษาใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ทางสำนักอนุรักษ์ยังไม่พร้อมที่จะรับมอบพื้นที่เนื่องจากเส้นทางจักรยานอยู่ในสภาพชำรุด เสียหายไม่สามารถเปิดให้นักขี่จักรยานเข้ามาใช้พื้นที่นี้ขี่จักรยานได้ เมื่อเดือนกันยายน 2565 ได้ขอความอนุเคราะห์ให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรีเข้าสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจะได้ขอใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย จึงได้ประสานไปยังกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดชลบุรี เพื่อขอนำเรื่องนี้เข้าแผนรับงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัดชลบุรีในปี งบประมาณ 2568 โดยมีการลงนามในบันทึกตกลงระหว่าง จังหวัดชลบุรี กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ว่าถ้าดำเนินการซ่อมทำเรียบร้อย ก็จะมีการส่งมอบพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดไปบริหารจัดการ และดูแลให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ขอวิงวอนให้ที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ให้ส่งเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดิน เข้ามาตรวจสอบชี้แนวเขต ที่มีเอกสารสิทธิ์การครอบครอง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับประชาชนต่อไป